วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บุคคลสำคัญ

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์
     ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2448 ที่กรุงเทพฯ โดยเป็นบุตรของนายสุวรรณ และนางสมบูรณ์ ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนวัดหัวลำโพง โรงเรียนทหารเด็กของกรมหลวงนครราชสีมา และเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยม 8 สำเร็จธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      ขณะเรียนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้ออกหนังสือในชั้นเรียนร่วมกับเพื่อนๆ อาทิ ชะเอม อันตรเสน และ ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีผลงานออกสู่ภายนอกในรูปของบทกวีและเรื่องอ่านเล่น สำหรับนามปากกา ศรีบูรพา เริ่มใช้ในการเขียนเรื่องให้หนังสือทศวารบันเทิง โดยนายแตงโม จันทวิมพ์ เจ้าของโรงเรียนรวมการสอน ซึ่งกุหลาบเป็นครูสอนพิเศษ เป็นผู้ตั้งให้ เพื่อเป็นชุดเดียวกับเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน คือ ชะเอม อันตรเสน (ศรีเสนันตร์) และ สนิท เจริญรัฐ (ศรีสุรินทร์)
     เมื่อสำเร็จชั้นมัธยม 8 ในปี พ.ศ. 2468 ได้สมัครเป็น "นักเรียสอน" ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ต่อมาในปีเดียวกัน ได้รับการชักชวนจาก พันโทพระวิสิษฐพจนการ บรรณธิการหนังสือเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ให้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ จนถึงปี พ.ศ. 2472 จึงรวบรวมเพื่อนสนิท 10 คน ออกหนังสือสุภาพบุรุษรายปักษ์หลังจากนั้นก็ไปทำข่าวบางกอกการเมือง,ไทยใหม่,สยามราษฏร์ และศรีกรุง ซึ่งบทความเรื่อง "มนุษนภาพ" ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงจุดอ่อนของระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงถูกปิด

     
     ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชนติรายวัน ของ ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ (พลตรี กรมหมื่นราธิปพงศ์ประพันธ์) อยู่ 4 ปี ก็ถูกแรงกดดันจนต้องลาออกไปร่วมกับเพื่อนๆ ทำหนังสือประชามิตร และสุภาพบุรุษในยุคใหม่ และผลักดันให้มีการก่อตั้งสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขึ้นเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2484 แต่ในปี พ.ศ. 2485 กุหลาบถูกจับกุมในข้อหากบฏภายในราชอาณาจักรและถูกคุมขังอยู่ราว 10 เดือน หลังจากเดินทางไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2490 และกลับมาในปี พ.ศ. 2492 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เขียนหนังสืออยู่กับบ้านโดยไม่ได้ทำงานหนังสือพิมพ์อีก
     ใน พ.ศ. 2494 - 2495 ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ และร่วมจัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านการใช้ระเบิดปรมาณู ยุติการรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และคัดค้านการส่งทหารไทยไปร่วมรบในเกาหลี ในเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 กุหลาบ สายประดิษฐ์ และผู้เกี่ยวข้องอีก 100 คน ถูกจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถูกตัดสินพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน แต่หลังจากถูกคุมขังอยู่ 4 ปี ก็ได้รับการนิรโทษกรรมใน พ.ศ. 2500
     หลังพ้นโทษ ได้รับเชิญจากสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์ของจีนให้ไปเยือนจีน และร่วมการประชุมนักเขียนเอเชีย - แอฟริกา ที่โซเวียต แต่ในปลายปีนั้นเอง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติ และกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่กุหลาบจึงขอลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
     ผลงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีอาทิ ปราบพยศลูกผู้ชาย,สงครามชีวิต, ข้างหลังภาพ, จนกว่าจะพบกันอีก ฯลฯ
     กุหลาบ สายประดิษฐ์ เสียชีวิตที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2517 อายุได้ 69 ปีเศษ ด้วยโรคปอดบวม และเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน

ที่มา : http://www.thaiwriter.org/writers/kularp_sipradit/kularp.htm